โรงเรียนรับขวัญ

ประพันธ์ศักดิ์ พุ่มอินทร์
ประโยชน์ของดนตรีต่อเด็ก
ดนตรี เป็นศิลปะแห่งเสียงที่มนุษยชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นไว้ นับตั้งแต่ที่มนุษย์ได้ยินเสียงจาก
ธรรมชาติและพยายามลอกเลียนเสียง จนกระทั่งสร้างเสียงดนตรีขึ้นได้เสียงดนตรีอยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอดไม่ว่าชนชาติใด
ภาษาใด ความเชื่อทางศาสนาใด ดนตรีสามารถเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่
อันแสดงถึงความเจริญทางจิตใจและอารยะธรรมของมนุษย์ชนชาติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

การศึกษาดนตรีในปัจจุบันได้รับการยอมรับให้เป็นวิชาหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเด็ก
จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์พบว่า ดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมองเด็ก เนื่องจากในสมองมีสารเคมีบางตัวที่มีผลต่อความรู้สึก
ความจำ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ เราเรียกสารนี้ว่า สารสื่อสัญญาณในสมอง Neurotransmitter)
ได้แก่
สารเพื่อเกิดการกระตุ้น(excitatory)และสารเพื่อการยับยั้ง(inhibitory)สารเคมีทั้ง
2 ชุดนี้ ช่วยทำให้เด็กมีความตั้งใจ สนใจการเรียนรู้ มีสมาธิ
สารเคมีนี้จะหลั่งมากเมื่อมีเด็กมีกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
เช่น การออกกำลังกาย การได้รับคำชมเชย การเล่นเป็นกลุ่ม การร้องเพลง
การได้รับการสัมผัสที่อบอุ่น การเล่นดนตรีและการเรียนศิลปะโดยไม่ถูกบังคับ
กระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสุขเกิดจากความสมดุลของสมองทั้งสองซีก
เมื่อสารเอนโดฟีน (endophine) หลั่งออกมาทำให้เด็กมีความสุข
เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า
ถ้าสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้กระตุ้นให้เด็กมีความเครียด กดดัน
แข่งขันเพื่อเอาชนะ จะเป็นสารแอนดรีนาลีน (adrenalin)
ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่ไม่พึงปรารถนา
และสร้างความทรงจำที่ไม่ดีให้กับเด็ก

แนวคิดของความจำเป็นในการเรียนดนตรีสำหรับเด็กได้รับสำคัญมากขึ้นด้วยทฤษฎีความหลากหลายของสติปัญญา
(Theory of Multiple Intelligences)
ซึ่งโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้ศึกษาและจำแนกความเก่งของคนไว้ 7 ประการหลัก ได้แก่
1.ด้านภาษา (verbal/linguistic)
2.ด้านดนตรี/ จังหวะ(musical/rhythmic)
3.ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical/ mathematical)
4.ด้านการเคลื่อนไหว (body/kinesthetic)
5.ด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ (visual/spatial)
6.ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล/การสื่อสาร (interpersonal)
7.ด้านความรู้สึก/ความลึกซึ้งภายในจิตใจ (intrapersonal)
ความเก่งหรือความสามารถนี้มีรูปแบบการพัฒนาเฉพาะตัว
มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรม
แนวคิดนี้แตกต่างไปจากเรื่องIQหรือ ความฉลาด ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมถือว่า
ความฉลาดวัดได้จากการทดสอบในเด็กเพียงบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
ภาษาศาสตร์ แต่ปัจจุบันคำจำกัดความ
ว่า?ฉลาด? ?เก่ง? ?พรสวรรค์? ได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังเช่น
-นักกีฬาชื่อดัง เช่น ภราดร ศรีชาพันธ์ หรือ
-นักดนตรีอย่าง
วาเนสซ่า เมย์ ก็ถือได้ว่าเป็นอัจริยะทางด้านต่าง ๆที่เขาและเธอถนัด
ซึ่งสามารถทำได้ดีกว่าคนธรรมดาทั่วไปและเมื่อเรามองถึงภูมิหลังของบุคคลอัจฉริยะทั้งหลายจะพบว่า
เขาเหล่านั้นไม่ได้บังเอิญเกิดมาเก่งเพียงอย่างเดียวแต่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้องและต่อเนื่องมาตั้งแต่เยาว์วัย
จากครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ โรงเรียน และสังคม
ที่เอื้อหนุนให้ความเก่งของเขาเพิ่มพูนขึ้น
จนสามารถเปลี่ยนความถนัดให้เป็นความสามารถพิเศษได้
ความสามารถพิเศษทางดนตรีของมนุษย์
เป็นศักยภาพที่พบมากในคนที่เล่นดนตรี ศิลปินดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ควบคุมวง
ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน นักร้อง นักเต้นรำ
ซึ่งบุคคลพวกนี้มีทักษะทางดนตรีในขั้นพิเศษกว่าคนทั่วไป เช่น
เมื่อฟังเพลงแล้วสามารถจับจังหวะได้ สามารถบอกระดับเสียง
เขียนเป็นโน้ตดนตรี
ตีความบทเพลง รับรู้พลังของดนตรี
ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจฟังแค่เพลงนั้นไพเราะหรือถูกใจเพียงผิวเผิน
แต่อย่างไรก็ดี ความสามารถทางดนตรีย่อมพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน เช่น
หัดเล่นดนตรี ร้องเพลง อ่านโน้ต
ฟังเพลงมาก ๆ
การฝึกฝนทางด้านดนตรีที่ดี ผู้เรียนต้องมีแรงจูงใจ
มีความอยากเรียนด้วยตนเอง มีความสุขเมื่อได้ทำกิจกรรมดนตรี
มีความต้องการแสดงออกทางดนตรี ดังนั้น พ่อ แม่
ผู้ปกครองควรสร้างรากฐานแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังเล็ก
ดังเช่นคำพูดที่ว่า ?กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว?
เพราะว่าในช่วงแรกของชีวิต เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
เด็กที่ได้รับการเตรียมพร้อมโดยพ่อแม่
ก่อนการเข้าเรียนในโรงเรียนย่อมได้เปรียบเด็กอื่น ๆ
ที่มีกิจกรรมที่บ้านด้วยการดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์
การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกัน มีผู้ปกครองส่วนมากที่เข้าใจกันว่า
เมื่อส่งลูกเข้าเรียนพิเศษในโรงเรียนดนตรีก็หวังว่าจะให้เด็กประสบความสำเร็จทางดนตรีเช่นเดียวกับ
โมซารท์ (Mozart) คีตกวีเอกของโลก
แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ดนตรีที่บ้าน เช่น
การเปิดเพลงให้ฟัง การพาเด็กไปชมการแสดงดนตรี
ซึ่งหมายถึงประเภทของดนตรีที่ฟังด้วย
เพราะดนตรีที่ส่งเสริมความคิดที่ดีต้องเป็นดนตรีที่กลั่นกรองมาดี เช่น
ดนตรีคลาสสิก หรือ ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย
ดนตรีที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีจนผิดธรรมชาติ
มีงานวิจัยทางดนตรีหลายชิ้นในต่างประเทศพบว่า ถ้าเด็กทารกได้ฟังเพลงคลาสสิกที่คัดสรรแล้ว
เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสมองเร็วกว่าเด็กปรกติ
คือ ความสามารถทางการได้ยิน การใช้กล้ามเนื้อ การพูด การอ่าน ความมีสมาธิ
การตอบสนองโดยทั่วไปดีกว่าเด็กปรกติ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงมีชื่อว่า Mozart Effect
ซึ่งนำเอาบทประพันธ์ของคีตกวีโมซาร์ทมาทดลองให้เด็กฟัง
และสรุปบางตัวอย่างบทเพลงที่ควรให้เด็กฟัง
ได้แก่ Divertomento K 136 ,Opera(Don Giovanni)-Deh Vieni Alla Finestra
, Quintet for clarinet A Major K 581-2nd Movement , Sonata for 2 pianos
D major K
448-2nd Movement ฯลฯ ผลงานนี้มีขายทั่วไปและได้ทำทั้งรูปแบบ CD และ
DVD
ซึ่งมีภาพการ์ตูนประกอบบทเพลงให้เด็กได้ฟังเพื่อความเพลิดเพลินด้วย
ผู้เขียนเคยเห็นผลงานเหล่านี้บางส่วนมีขายในศูนย์การค้าในประเทศไทยแล้วด้วย
ดังนั้นสิ่งแรกที่พ่อ แม่ ควรเริ่มก่อนการส่งเด็กเข้าเรียนดนตรี นั่นคือ
การสร้างสภาพแวดล้อมทางดนตรีที่ดี ด้วยการฟังดนตรีที่ดีตั้งแต่วัยทารก
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า
ควรฟังดนตรีตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำไป

Categories: main

Leave a Reply